วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

การเลี้ยงปลากัดของคนไทย
 
            การกัดปลานับเป็นเกมกีฬาที่นิยมกันในหมู่คนไทยมาเป็นเวลานาน อันที่จริงแล้วปลาที่ใช้ในเกมกีฬาการกัดปลาของชาวไทยนั้น นอกจากปลากัดแล้ว ยังมีปลาอีก ๒ ชนิดที่นำมากัดแข่งขันกัน คือ ปลาหัวตะกั่ว และปลาเข็ม แต่ไม่แพร่หลายและเป็นที่นิยมเท่าปลากัด ทั้งนี้เนื่องจากปลากัดนอกจากจะมีลีลาการต่อสู้ที่เร้าใจและอดทนแล้วยังเป็นปลาที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาที่พองตัวเพื่อต่อสู้  ในระยะแรกๆ ปลากัดที่แข่งขันเป็นปลาที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ต่อมาจึงได้เริ่มมีการนำปลากัดมาเลี้ยงเพื่อใช้ในการกัดแข่งขัน และเริ่มมีการผสมพันธุ์เพาะเลี้ยงปลากัด เพื่อให้ได้ปลาที่อดทน กัดเก่ง สีสวยงาม ซึ่งได้เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นก็มีการผสมพันธุ์ปลากัดให้เป็นปลาสวยงาม และเป็นปลาสวยงามชนิดแรกที่คนไทยนิยมเลี้ยง การเพาะเลี้ยงปลากัดจึงแบ่งออกเป็น  ๒  กลุ่มใหญ่ๆ  กลุ่มหนึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันเป็นการกีฬา หรือการพนัน และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเป็นปลาสวยงาม

           ในการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขัน จะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ของปลากัดครีบสั้น หรือปลาลูกหม้อ เป็นหลัก เพื่อให้ได้ปลาที่กัดเก่ง อดทน และมีขนาดใหญ่ ในระยะหลังๆ ได้มีการนำปลากัดพื้นเมืองในภาคใต้มาผสมบ้าง เพื่อสร้างลูกผสมที่กัดเก่ง และมีการใช้กลวิธีการหมักปลาด้วยสมุนไพร ใบไม้ ว่าน ดินจอมปลวก และอื่นๆ  เพื่อช่วยเคลือบเกล็ดปลา  ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้เกล็ดแข็งกัดเข้าได้ยาก  ควบคู่ไปกับการคัดเลือกพันธุ์

           ส่วนการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเป็นปลาสวยงาม  นอกจากจะพัฒนาให้ได้สีที่สวยงาม และรูปแบบใหม่ๆ แล้ว ก็ได้มีการพัฒนาสร้างสายพันธุ์ปลากัดครีบยาว ที่เรียกกันทั่วไปว่า  ปลากัดจีน ซึ่งมีครีบยาวใหญ่สวยงาม  ในระยะหลังนี้ได้มีการพัฒนารูปทรงของครีบแบบต่างๆ และมีการพัฒนาปลากัดครีบสั้นให้เป็นปลาสวยงาม โดยพัฒนาสีสันให้สวยขึ้น และพัฒนาปลาลูกหม้อให้มีสีใหม่ๆ จนในที่สุดก็มีการผสมระหว่างปลากัดครีบสั้นกับปลากัดครีบยาว เพื่อสร้างลักษณะที่สวยงาม
สายพันธุ์ปลากัด

ปลากัดป่า หรือ ปลาลูกทุ่ง ที่พบในธรรมชาติ ตามท้องนา หนองบึง ส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่เด่นมากนัก ในสภาพปกติสีอาจเป็นสีน้ำตาลเทาหม่น หรือสีเขียว และอาจมีแถบดำจาง ๆ พาดตามความยาวของลำตัว อาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ระหว่างพรรณไม้น้ำในที่ตื้น ความพิเศษของปลากัด อยู่ที่ความเป็นนักสู่โดยธรรมชาติเมื่อพบปลาตัวอื่นจะเข้าต่อสู้กันทันที และที่พิเศษยิ่งกว่านั้นคือการที่ปลาตัวผู้สามารถเปลี่ยนสีให้งดงามเมื่อถูก กระตุ้น ในสภาวะตื่นตัวครีบทุกครีบจะแผ่กางออกเต็มที่ แผ่นเยื่อหุ้มเหงือขยายพองตัวออก พร้อมกับสีน้ำเงินหรือแดงที่ปรากฏขึ้นมาชัดเจนในโทน ต่าง ๆ ทำให้ดูสง่าอาจหาญ และสวยงาม ปลาป่าแท้นั้นส่วนมากครีบ หางและกระโดงที่ภาษานักแปลงปลาเรียกรวมว่า “เครื่อง” จะมีสีแดงเกือบตลอดมีประดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีเส้น เขียว ๆ แซมบ้าง อย่างที่เรียกว่าเขียวก็มีเพียงแต้มเขียวอ่อน ๆ ที่กระโดงเท่านั้น เวลาถอดสีปกติทั้งตัวและ เครื่องเป็นสีน้ำตาลจืด ๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ที่ห้อยแช่น้ำอยู่ ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ ปลากัดก็คือเป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษที่อยู่บริเวณเหงือกทำให้ปลา สามารถใช้ออกซิเจน จากการฮุบอากาศได้โดยตรง ปลากัดจึงสามารถทนทานดำรงชีวิตอยู่ได้ในที่ที่มีออกซิเจนต่ำ ตำนานเล่าขานของปลากัดจึงค่อนข้างแปลกประหลาด ไปกว่าสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ บทความ “ธรรมชาติของปลากัดไทย) โดย ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ที่เขียนไว้เมื่อปี 2496 ได้พูดถึงการขุดหา ปลากัดในรูปูนา ตามขอบหนอง ชายบึง ริมคู และรางน้ำ ซึ่งปลากัดเข้าไปอยู่อาศัยปน อยู่กับปูในรูตั้งแต่ต้นฤดูหนาว เมื่อน้ำเริ่มลดไป จนตลอดหน้าแล้งปูก็จะขุดรูลึก ตามระดับน้ำลงไปเรื่อย ๆ ปลากัดจะออกมาแพร่พันธุ์ใหม่ในต้นฝนในเดือนพฤษภาคม กระจายออกไปหากินตามที่มีหญ้ารก ๆ ในเขตน้ำตื้นปลากัด เป็นปลาที่ชอบน้ำตื้น จึงไม่พบตามแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ที่มีน้ำลึก อันที่จริงในธรรมชาติการต่อสู่กันของปลากัดไม่จริงจังเท่าไรนัก ส่วนมากมักแผ่พองครีบหางขู่กันเพื่อแย่งถิ่น บางตัวเห็นท่าไม่ดีก็อาจเลี่ยงไปโดยไม่ ต่อสู้กันเลยก็มี แต่บางคู่ก็ต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง ปลาตัวผู้ตัวไหนที่ยึดชัยภูมิเหมาะได้ที่ ก็จะก่อหวอดไว้แล้วพองตัวเบ่งสี เกี้ยวตัวเมียที่ผ่านไปมา เพื่อผสมพันธุ์วางไข่


ปลากัดหม้อ
Bettar Fighting Fish
ปลาลูกหม้อหรือปลาหม้อนั้นเป็นปลากัดที่ถูกนำมาคัดสายพันธ ุ์โดยนักพันธุศาสตร์สมัครเล่นชาวไทยที่มุ่งหวัง จะได้ปลาที่กัดเก่ง จากบันทึกคำบอกเล่า ของนักเลงปลาเก่าอย่าง หลวงอัมรินทร์สมบัติ (ครอบสุวรรณนคร) คาดว่า ปลาลูกหม้อน่าจะถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงประมาณปี 2430 ซึ่งท่านจำได้ว่า ก่อนหน้านั้น ยังต้องจับปลาป่า มากัดพนันกันอยู่ต่อมานักเลงปลาบางคนก็เริ่มใช้วิธีไปขุดล้วงเอาปลาป่าที่ อาศัยอยู่ตามรูปูในหน้าแล้งมาขังไว้ในโอ่ง มาเลี้ยงดูให้ พอถึงฤดูฝนก็นำมากัดพนันกับปลาป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะสู้ปลาขุดที่เลี้ยงมาไม่ได้ การเล่นปลาขุดนี้ยังนิยมเล่นกันมาถึงประมาณ ปี 2496 หลังจากนั้นก็มีการเก็บปลาที่กัดเก่งเลี้ยงไว้ข้ามปี และหาปลาป่าตัวเมียมาผสม ลูกปลาที่ได้จากการผสมในชุดแรกจะเรียกว่า “ปลาสังกะสี” ซึ่งสัณนิษฐานว่าน่าจะได้ ชื่อมาจากผิวหนังที่หนาแกร่ง ไม่ถูกกัดขาดง่ายเหมือนปลาป่าและปลาขุด ปลาสังกะสีมักจะตัวใหญ่ สีสันลักษณะ ต่างจากปลาป่าและปลาขุด นักเลงปลาป่าจึงมักไม่ยอมกัดพนันด้วย จึงต้องกัดแข่งขันระหว่างปลาสังกะสีด้วยกันเอ ปลาสังกะสีที่เก่ง อดทน สวยงามก็จะถูกคัดไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อผสมออกมา ก็จะได้ปลาลักษณะรูปพรรณสีสันที่สวยงาม แปลกออกไปตามอัธยาศัยของผู้ผสมพร้อม ความเก่ง และอดทนในการกัดจะว่าไปแล้วพันธุศาสตร์สัตว์น้ำของเมืองไทย นับได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคนี้ คำว่า “ลูกหม้อ” นั้นมาจากการใช้หม้อดินในการเพาะและอนุบาลปลากัด ในระยะแรก ๆ ปลาลูกหม้อจึงเป็นปลาสายพันธุ์ ที่สร้างมาแท้ ๆ กับมือของนักเลงปลาทั้งหลาย เพื่อให้ได้ลักษณะที่ดีสำหรับการต่อสู้และให้มีสีสันที่สวยงามตามความพอใจ ของเจ้าของ ปลากัดลูกหม้อจึงมีรูปร่าง หนาใหญ่กว่าปลากัดชนิดอื่น สีสันสวยงามดูแล้วน่าเกรงขามกว่าพันธุ์อื่น ๆ สีส่วน มากจะเป็นสีน้ำเงิน แดง เทา เขียว คราม หรือแดงปนน้ำเงิน ใน การเล่นปลากัดในยุคก่อนนั้นปลาลูกหม้อจะมีสองประเภท “ลูกแท้” และ “ลูกสับ” ลูกแท้ หมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ ่ที่มาจากครอกเดียวกัน และลูกสับหมายถึงลูกปลาที่เกิด จากพ่อแม่ที่มาจากคนละครอก ปลากัดลูกหม้อนี้ถ้าเอาไปผสมกลับกับปลาป่าลูกปลาก็จะ เรียกว่า “สังกะสี” เช่นเดียวกัน ซึ่งปลาสังกะสีซึ่งเกิดจากการผสมกลับแบบนี้ส่วนมากก็จะมีชั้นเชิงและน้ำอด น้ำทนในการกัดสู้ลูกหม้อไม่ได้ “ลูกหม้อ” จึง เป็นสุดยอดของปลากัดสำหรับนักเลงปลาทั้งหลาย ในระยะหลัง ๆ ก็อาจมีการพูดถึงสายพันธุ์ “มาเลย์” หรือ “สิงคโปร์” ซึ่งว่ากันว่ากัดเก่งหนังเหนียวแต่โดยแท้จริงก็คือปลาลูกหม้อ นั่นเอง เพียงแต่ว่าในระยะต่อมามีการประยุกต์ใช้กลวิธีการ หมักปลาด้วยสมุนไพร ใบไม้ ว่าน ดินจอมปลวก และอื่น ๆ เพื่อช่วยเคลือบเกล็ดปลา ที่เชื่อกันว่าจะทำให้เกล็ดแข็งกัดเข้า ได้ยาก ควบคู่ไปกับการคัดเลือกพันธุ์ ถึงอย่างไร ลูกหม้อก็คือลูกหม้อที่เราชาวไทยพัฒนามาแต่โบราณแม้จะถูกนำไป พัฒนาสายพันธุ์ในที่อื่นก็ยังคงเป็นลูกหม้อไทยตัวเดิมนั่นเอง




ปลากัดจีนเป็นชื่อที่ใช้เรียกปลากัดครีบยาวมาช้านาน เข้าใจว่าอาจมาจากลักษณะครีบที่ยาวรุ่ยร่ายสีฉูดฉาดเหมือนงิ้วจีน ปลากัดจีนเป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลาลูกหม้อ โดยผสมคัดพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่มีครีบและหางยาวขึ้น ความยาวของครีบหางส่วนใหญ่จะยาวเท่ากับ หรือมากกว่าความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน และมีการพัฒนาให้ได้สีใหม่ๆ และสวยงาม โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวไทย ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์สำเร็จมาช้านาน ก่อนที่ปลากัดจะถูกนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ แต่ไม่มีการบันทึกไว้ว่า การพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ปลากัดชนิดนี้เป็นชนิดที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง จนได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย


ปลากัดหางสามเหลี่ยม หรือปลากัดเดลตาเป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลากัดครีบยาว หรือปลากัดจีน โดยพัฒนาให้หางสั้นเข้าและแผ่กว้างออกไปเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบครีบหางกางทำมุม ๔๕ – ๖๐ องศา กับโคนหาง และต่อมาได้พัฒนาให้ครีบแผ่ออกไปกว้างมากยิ่งขึ้น เรียก “ซูเปอร์เดลตา” ซึ่งมีหางแผ่กางใหญ่กว่าปกติ จนขอบครีบหางด้านบนและล่างเกือบเป็นเส้นตรง


ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือปลากัดฮาล์ฟมูนเดลตาเป็นปลากัดที่มีหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบหางจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ได้มีแนวคิดและความพยายามในการที่จะพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในประเทศเยอรมนี แต่เพิ่งประสบผลสำเร็จเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวฝรั่งเศสและชาวเยอรมัน
ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกมีลักษณะที่สำคัญ คือ ครีบหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบด้านหน้าจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ครีบด้านนอกเป็นขอบเส้นโค้งของครึ่งวงกลม ก้านครีบหางแตกแขนง ๒ ครั้ง เป็น ๔ แขนง หรือมากกว่า ปลาที่สมบูรณ์จะต้องมีลำตัวและครีบสมส่วนกัน โดยลำตัวต้องไม่เล็กเกินไป ครีบหางแผ่ต่อเนื่องหรือซ้อนทับกับครีบหลังและครีบก้น จนเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน ขอบครีบหลังโค้งมนเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม เส้นขอบครีบทุกครีบโค้งรับเป็นเส้นเดียวกัน (ยกเว้นครีบอก) ปลายหางคู่ที่แยกเป็น ๒ แฉกจะต้องซ้อนทับและโค้งมนสวยงาม ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกที่แท้จริงจะต้องมีขอบครีบหางแผ่ทำมุม ๑๘๐ องศา ได้ตลอดไป ถึงแม้ปลาจะมีอายุมากขึ้นก็ตาม



ปลากัดหางมงกุฎ หรือปลากัดคราวน์เทล
เป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ เป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีหางจักเป็นหนามเหมือนมงกุฎ และเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน ลักษณะสำคัญของปลากัดชนิดนี้คือ ก้านครีบจะโผล่ยาวออกไปจากปลายหาง ลักษณะดูเหมือนหนาม ซึ่งอาจยาวหรือสั้นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับลักษณะการแยกของปลายหนาม และการแยกการเว้าโคนหนามก็มีหลายรูปแบบ ปลากัดหางมงกุฎที่สมบูรณ์จะมีครีบหางแผ่เต็มซ้อนทับได้แนวกับครีบอื่นๆ และส่วนของหนามมีการจัดเรียงในรูปแบบที่สวยงามสม่ำเสมอ


การเลี้ยงปลากัด

          * ภาชนะสำหรับใช้เลี้ยงปลากัดอาจเป็นขวดโหลรูปทรงต่างๆ หรือตู้กระจกขนาดเล็ก เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยชอบต่อสู้ จึงควรแยกออกเลี้ยงเดี่ยวในภาชนะ เมื่ออายุประมาณหนึ่งเดือนครึ่งถึงสองเดือน การเลี้ยงปลากัดเป็นจำนวนมากๆ ในฟาร์มเลี้ยงปลากัดในประเทศไทย มักนิยมใช้ขวดแบนขนาด  ๑๕๐ มิลลิลิตร ซึ่งสามารถวางเรียงกันได้โดยไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ อีกทั้งปากขวดแคบเล็ก สามารถป้องกันปลากระโดด และศัตรูปลาได้ดี สถานที่วางขวดหรือโหลควรเป็นที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี  ไม่ร้อนเกินไป เพราะอุณหภูมิน้ำที่สูงเกิน ๓๐ องศาเซลเซียส  อาจทำให้ปลาตายได้เช่นเดียวกับอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป ซึ่งจะทำให้ปลากินอาหารได้น้อย และเป็นสาเหตุให้ตายได้เช่นกัน
          * ส่วนน้ำที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลากัดจะต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน  บรรจุน้ำประมาณ ๓ ใน ๔  ของภาชนะที่ใช้เลี้ยง ปลากัดสามารถฮุบอากาศที่ผิวน้ำหายใจ ใช้ออกซิเจนได้โดยตรง จึงไม่ต้องให้อากาศ การถ่ายน้ำควรถ่ายน้ำ ๑ - ๒  ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาจเปลี่ยนน้ำทั้งหมด หรือดูดตะกอนและน้ำออกบางส่วน แล้วเติมน้ำใหม่ลงไปก็ได้           *โดยธรรมชาติ ปลากัดเป็นปลาที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น ไรสีน้ำตาล ไรแดง ลูกน้ำ หนอนแดง แต่ก็สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดและเนื้อสัตว์ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กได้ การให้อาหารควรให้วันละ  ๑  ครั้ง ในปริมาณที่ปลากินอิ่ม ซึ่งสังเกตได้โดยปลาจะกินอาหารทันทีที่ให้ อาหารธรรมชาติ  เช่น ไรแดง หนอนแดง และลูกน้ำที่ช้อนจากแหล่งน้ำที่ปกติค่อนข้างเน่าเสีย อาจมีโรคและปรสิตของปลาติดมาด้วย จึงควรทำความสะอาดโดยล้างในน้ำสะอาด และแช่ในด่างทับทิมเข้มข้น ๐.๕ - ๑.๐ กรัม/ลิตร  ประมาณ ๑๐ - ๒๐ วินาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ก่อนให้เป็นอาหารปลา ไรสีน้ำตาลหรืออาร์ทีเมียจะไม่มีปัญหานี้ เนื่องจากเป็นไรน้ำเค็มที่เลี้ยงในความเค็มสูง ทุกๆ ๑ - ๒  เดือน ควรล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้เลี้ยง

การเพาะพันธุ์ปลากัด
          ปลากัดเป็นปลาที่ผสมภายนอก และมีการสร้างรังโดยการก่อหวอดที่ประกอบด้วยฟองอากาศที่เกิดจากเมือกในปากปลากัดจะเจริญพันธุ์พร้อมที่จะผสมพันธุ์วางไข่ได้ตั้งแต่อายุ  ๓  เดือนขึ้นไป  อย่างไรก็ตามพ่อแม่พันธุ์ที่จะใช้ผสมพันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่  ๕ - ๖  เดือน ขึ้นไป  ปลาเพศผู้ที่สมบูรณ์พร้อมเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีควรมีลักษณะแข็งแรง ปราดเปรียว ชอบก่อหวอดสร้างรัง ปลาเพศเมียที่เป็นแม่พันธุ์ควรสมบูรณ์แข็งแรง ปราดเปรียว มีลักษณะท้องอูมเป่ง บริเวณใต้ท้องมีตุ่มสีขาวใกล้รูก้น เห็นได้ชัดเจน ตุ่มสีขาวนี้เรียก ไข่นำ  นอกจากลักษณะกว้างๆ ดังกล่าว  ผู้เพาะพันธุ์ปลากัดอาจเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีสันหรือลักษณะรูปทรงของครีบแบบต่างๆ เพื่อผสมให้ได้สีสันและรูปทรงของลูกปลาตามที่ต้องการ
          เมื่อคัดปลาพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว ควรเอามาใส่โหล และวางโหลชิดกันให้ปลาพ่อแม่พันธุ์มองเห็นกันตลอดเวลา เพื่อเร่งไข่ให้เกิดการพัฒนาให้เร็วขึ้น วิธีนี้เรียกว่า การเทียบคู่ บริเวณที่ใช้เทียบควรปราศจากสิ่งรบกวน เวลาที่ใช้เทียบอาจประมาณ ๓ - ๑๐ วัน  ขึ้นอยู่กับว่าปลาเพศเมียจะมีความสมบูรณ์เพศระดับไหน ซึ่งสังเกตได้จากบริเวณท้องที่อูมเป่ง เมื่อตัวเมียท้องอูมเป่งเต็มที่นำปลาตัวผู้และตัวเมียมาใส่รวมกันในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับใช้ผสมพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นภาชนะขนาดเล็ก เช่น  ขันพลาสติก  โหลแก้ว  ตู้กระจก อ่างซีเมนต์ หรือโอ่งน้ำซึ่งขนาดพื้นที่ไม่ควรกว้างมากนัก  เติมน้ำให้สูงจากก้นภาชนะ ๕ - ๑๐ เซนติเมตร ใส่พันธุ์ไม้น้ำที่ล้างสะอาดหรือใบไม้ เพื่อเป็นที่สำหรับก่อหวอด สร้างรังของปลา หากเป็นภาชนะขนาดเล็กที่ขอบไม่สูงมาก อาจต้องมีฝาปิดด้านบน เพื่อป้องกันปลากระโดด และป้องกันศัตรูปลา
          ประมาณ ๑ - ๒ วันหลังจากนั้น ปลาตัวผู้จะเริ่มก่อหวอดสร้างรังติดกับพันธุ์ไม้น้ำหรือใบไม้ เมื่อสร้างหวอดเสร็จแล้ว ปลาตัวผู้จะแผ่พอง ไล่ต้อนปลาตัวเมียให้ไปอยู่ใต้บริเวณหวอด เมื่อปลาตัวเมียลอยตัวมาใต้ผิวน้ำบริเวณหวอด ปลาตัวผู้จะเข้ารัดโดยงอตัวประกบรัดด้านล่าง ปลาตัวเมียก็จะปล่อยไข่ออกมา ขณะเดียวกันปลาตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่จะค่อยๆ จมลงสู่ก้นภาชนะ  และปลาตัวผู้จะว่ายตามลงไป ใช้ปากดูดอมไข่ไว้ทีละฟองจนเต็มปาก จึงว่ายน้ำขึ้นไปพ่นติดไว้ที่หวอด แล้วว่ายขึ้นมาฮุบฟองอากาศ สลับกับการว่ายลงไปเก็บไข่ขึ้นมาพ่นไว้ที่หวอดจนหมด การรัดและวางไข่จะเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง จนตัวเมียวางไข่หมด แต่ละครั้งอาจทิ้งช่วงห่างกันตั้งแต่ ๑ -  ๒  นาที จนถึง  ๗ - ๘  นาที ระยะเวลาในการผสมพันธุ์วางไข่อาจใช้เวลาตั้งแต่ ๑ - ๖  ชั่วโมง เมื่อการวางไข่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัวผู้จะไล่ต้อนตัวเมียให้ออกไปห่างจากรัง และทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง โดยปลาตัวผู้จะคอยเก็บไข่ที่หล่นจากรังกลับไปพ่นไว้ที่หวอด เมื่อสังเกตว่าปลาตัวเมียวางไข่เสร็จแล้ว ให้ช้อนปลาตัวเมียออก เพื่อป้องกันตัวเมียกินไข่ที่ผสมแล้ว จากนั้นปล่อยให้ปลาตัวผู้ดูแลไข่ต่อประมาณ  ๒  วัน จึงแยกปลาตัวผู้ออก ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวในระยะเวลาประมาณ ๓๖  ชั่วโมง
          ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ จะเกาะอยู่ที่หวอด ในระยะนี้จะมีถุงอาหารติดตัวมาด้วย และจะใช้อาหารจากถุงอาหารนี้หมดในระยะเวลา ๓ - ๔ วัน ดังนั้นในช่วง ๓ - ๔  วันแรก จึงยังไม่จำเป็นต้องให้อาหาร หลังจากถุงอาหารยุบหมดแล้ว ลูกปลาจึงจะเริ่มกินอาหาร ซึ่งในระยะแรกต้องให้อาหารที่มีขนาดเล็ก เช่น ไข่แดงต้มสุกละลายน้ำกรองผ่านตะแกรงตาถี่  หยดกระจายให้ลูกปลาวันละ ๑ ครั้ง  หรืออาจให้โรติเฟอร์ ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวขนาดเล็ก เป็นเวลาประมาณ  ๓ - ๕ วัน จึงให้ไรแดงขนาดเล็กที่กรองคัดโดยใช้ตะแกรงตาถี่ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นให้ไรแดงตัวเต็มวัย  จนกว่าลูกปลาโตสามารถกินลูกน้ำได้  ในกรณีที่มีปัญหาในการหาไรแดง อาจใช้ไรสีน้ำตาล หรือไข่ตุ๋นแทนได้ ในการอนุบาลถ้าเพาะปลาในภาชนะขนาดเล็ก ให้ย้ายไปอนุบาลในภาชนะขนาดใหญ่ โดยค่อยๆ เททั้งน้ำและลูกปลาลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้อนุบาล  ซึ่งอาจจะเป็นตู้กระจก อ่างดิน อ่างซีเมนต์ โอ่งน้ำ หรือถังไฟเบอร์ เพิ่มระดับน้ำวันละ ๓ - ๕  เซนติเมตร ใช้สายยางดูดตะกอนเศษอาหารออกเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย จนประมาณ ๑๐ วัน จึงเปลี่ยนถ่ายน้ำ โดยเปลี่ยนประมาณ ๑ ใน ๔  ของน้ำทั้งหมด เมื่อลูกปลาอายุประมาณ ๑๑/๒ เดือน  ก็สามารถแยกเพศได้ ให้คัดแยกปลาออกไปเลี้ยงเดี่ยว เพื่อป้องกันการกัดกัน ลูกปลาอายุ ๑ เดือน จะมีขนาดลำตัวเฉลี่ยประมาณ ๑ เซนติเมตร และจะเพิ่มเป็นประมาณ ๓ เซนติเมตร  ในเดือนที่ ๒

โรคและการรักษา
          ๑)  โรคจุดขาว เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว ชื่อ อิกไทออฟทีเรียส  มัลติฟิลิส (Ichthyophthirius multifilis)  ซึ่งมักเรียกกันว่า  “อิ๊ก”  อาการจะเป็นจุดขาวบริเวณลำตัวและเหงือก ขนาดความกว้าง ๐.๕ - ๑.๐  มิลลิเมตร การรักษาให้แช่ปลาในน้ำที่ผสมฟอร์มาลิน ๒๕ - ๓๐ ส่วนในล้านส่วน และมาลาไคต์กรีน ๐.๑  ส่วนในล้านส่วน ติดต่อกัน  ๓ - ๕ วัน
          ๒)  โรคสนิม เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวชื่อ โอโอดีเนียม (Oodinium sp.) อาการจะมีลักษณะเป็นจุดคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาลเป็นหย่อมๆ ตามผิวหนังของปลา วิธีรักษาให้แช่ปลาในน้ำที่ผสมเกลือแกง ๑%  เป็นเวลา ๒๔  ชั่วโมง ทุกๆ  ๒  วันจนหาย    
          ๓)  โรคที่เกิดจากปลิงใส  เกิดจากปลิงใส  ๒  ชนิด  คือ ไจโรแด็กไทลัส (Gyrodactylus sp.) และแด็กไทโรไจรัส (Dactyrogyrus sp.) อาการส่วนหัวของปลาจะมีสีซีด  ส่วนลำตัวมีสีเข้ม  ครีบกร่อน และพบปลิงใสตามลำตัวและเหงือก การรักษาให้แช่ปลาในน้ำผสมด้วยฟอร์มาลิน ๓๐ - ๕๐  ส่วนในล้านส่วน หรือดิปเทอเรกซ์ ๐.๒๕ - ๐.๕  ส่วนในล้านส่วน
          ๔)  โรคเชื้อรา เกิดจากเชื้อแซโพรเลกเนีย (Saprolegnia sp.) ลักษณะอาการจะเห็นเป็นปุยขาวๆ  คล้ายสำลีตรงบริเวณที่เป็นโรค วิธีรักษาให้แช่ปลาในน้ำที่ผสมมาลาไคต์กรีน ๐.๑ - ๐.๒๕   ส่วนในล้านส่วน และฟอร์มาลิน  ๒๕  ส่วนในล้านส่วน เป็นเวลา  ๓ วัน  
          ๕)  โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  อาการที่ปรากฏ  คือ  มีอาการท้องบวม  มีของเหลวในช่องท้องมาก การรักษาให้แช่ในน้ำที่ผสมยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซีเททระไซคลินความเข้มข้น ๑๐ - ๒๐ ส่วนในล้านส่วน  หรือในน้ำผสมเกลือแกง ๐.๕%  เป็นเวลา  ๓ - ๕ วัน

รูปปลากัด